วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

จิตวิทยาการลงทุน #1

ผมเห็นว่ามีประโยชน์มากๆเลยครับ อ่านแล้วก็ชอบมากครับ เช่นประโยคนี้

"ข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่มักจะเกิดจากผลทางจิตวิทยามากกว่าการใช้ตรรกะ หรือความมีเหตุมีผลในการลงทุน"
สำหรับทุกท่านที่ซื้อขายหุ้นในตลาด ไม่ว่าจะลงทุนด้วยสไตล์ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเก็งกำไรรายวัน ซื้อขายตามสัญญาณเทคนิค หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับความสมหวังและผิดหวัง ทั้งได้กำไรหรือขาดทุนจากตลาดหุ้น ลองมาดูว่า ท่านเคยพบกับประสบการณ์อย่างนี้บ้างหรือไม่

เหตุการณ์ที่หนึ่ง:
คุณซื้อหุ้นบริษัทหนึ่งมาในราคา 12  บาท หลังจากที่ซื้อมาก็มีข่าวเข้ามากระทบกับบริษัทนั้น ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปที่ 10 บาท คุณทำใจขายมันไปไม่ได้ และพร่ำบอกกับตัวเองว่า ถ้าหุ้นขึ้นมาที่ 12 บาทอีกครั้ง คุณจะขายแน่!
เหตุการณ์ที่สอง:
หลังจากที่คุณได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นมาก้อนใหญ่ คุณก็กล้าเสี่ยงขึ้นมาทันที เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองนั้นเก่งถึงมีวันนี้ได้ และยังรู้สึกด้วยว่า เงินที่เอาไปเสี่ยงเป็นเงินที่ได้กำไรจากหุ้นมา ไม่ใช่เงินของตัวเอง
เหตุการณ์ที่สาม:
คุณมีหุ้นอยู่ในพอร์ตตัวหนึ่งที่คุณขาดทุนอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ คุณเห็นหุ้นตัวอื่นที่น่าจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่คุณก็ทำใจเปลี่ยนตัวไม่ได้ และบอกกับตัวเองว่า ถือๆไปเถอะ ไหนๆก็ขาดทุนมาขนาดนี้แล้ว
เหตุการณ์ที่สี่:
คุณมักจะเกิดความสนใจและเข้าซื้อหุ้นตัวที่ได้รับการแนะนำจากหลายๆแหล่ง อย่างเช่น รายการโทรทัศน์, โบรกเกอร์, เพื่อน หรือตามเวบบอร์ด โดยที่คุณไม่ได้ศึกษาด้วยตนเองเลย
ถ้าท่านมีประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว มีหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งน่าจะช่วยท่านได้ นั่นคือ หนังสือชื่อ ‘จิตวิทยาการลงทุน’ หรือ The Psychology of Investing แต่งโดย จอห์น นอฟซิงเกอร์ (John R.Nofsinger) แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ผู้ซึ่งมีผลงานแปลหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนออกมาหลายเล่ม เหตุการณ์ทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้วนั้นนำมาจากคำนำของหนังสือดังกล่าว
หนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่มักจะเกิดจากผลทางจิตวิทยามากกว่าการใช้ตรรกะ หรือความมีเหตุมีผลในการลงทุน
ตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แรกจะเห็นได้ว่า เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วราคาหุ้นลดต่ำลง นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการเสียดาย และหลีกเลี่ยงที่จะขายขาดทุน เพราะการขายหุ้นออกไปแล้วขาดทุนทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราทำผิดพลาด เนื่องจากในทางจิตวิทยา เมื่อเราทำผิดพลาดเรามักจะถูกลงโทษอยู่เสมอ ดังนั้นในการลงทุน เราจึงยืดเวลาการถูกทำโทษออกไปด้วยการถือหุ้นนั้นไว้ แล้วบอกกับตนเองว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” ซึ่งภาษาทางวิชาการเรียกว่า “การหลีกเลี่ยงความเสียใจ” (Avoiding Regret)
ในหนังสือกล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่นักลงทุนขายหุ้นขาดทุน ความเสียใจของพวกเขาจะรุนแรงกว่า หากว่าผลผลการขาดทุนนั้นเชื่อมโยงกับการตัดสินใจของพวกเขาเอง อย่างไรก็ตาม หากการขาดทุนนั้นเกิดจากสาเหตุอื่นที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของพวกเขา ความเสียใจของพวกเขาจะรุนแรงน้อยกว่า
ตัวอย่างเช่น หากหุ้นที่คุณถืออยู่มีราคาลดลงในขณะที่ราคาของหุ้นตัวอื่นๆเพิ่มสูงขึ้น คุณจะรู้สึกว่า คุณตัดสินใจซื้อหุ้นผิดตัวและความเสียใจของคุณจะรุนแรง อย่างไรก็ตาม หากหุ้นที่คุณถืออยู่มีราคาลดลง ซึ่งเป็นการลดลงพร้อมๆกับหุ้นตัวอื่นๆในตลาด คุณจะรู้สึกว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของคุณ และความเสียใจของคุณจะรุนแรงน้อยกว่า”
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆในจิตใจของนักลง ทุน โดยเฉพาะเวลาที่ขายหุ้นขาดทุน เรามักจะเกิดอาการเสียใจเสมอ แต่เราจะเสียใจมาก ถ้าหุ้นตัวอื่นราคาพุ่งสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ได้ตีแผ่ถึงอาการความไร้เหตุไร้ผลของนักลงทุน ได้ถึงก้นบึ้งเลยทีเดียว
ลองมาดูอีกข้อความหนึ่งในเหตุการณ์เดียวกัน
“ผู้คนมักจะทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเสียใจและเสาะหาความ ภาคภูมิใจ (Seeking Pride) สิ่งนี้เองที่นำไปสู่การขายหุ้นที่มีกำไรเร็วเกินไป และการเก็บหุ้นที่ขาดทุนนานเกินไป พฤติกรรมนี้กัดกร่อนความมั่งคั่งของนักลงทุน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำลง เนื่องจากพวกเขาได้ขายหุ้นดีๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนดีอย่างต่อเนื่องออกไป ขณะที่จะเก็บหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ๆ และมีแนวโน้มที่ให้ผลตอบแทนแย่ๆอย่างต่อเนื่องเอาไว้”
เราจะพบว่า เวลาขายหุ้นออกไปแล้ว เรามักจะมีความรู้สึกดีที่ได้กำไรมา ส่วนใหญ่มักจะเล่าเรื่องความสำเร็จในการทำกำไรจากตลาดหุ้นให้คนอื่นๆได้รับ ทราบ เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งเลยทีเดียว แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง หุ้นตัวที่ขายออกไป ราคากลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อนำราคาปิดใหม่มาเปรียบเทียบกับต้นทุนเดิมจะเห็นว่า กำไรที่ได้มาในครั้งแรกนั้นดูน้อยลงไปถนัดตา
ส่วนหุ้นที่ทนถือขาดทุนอยู่ในพอร์ตนั้นกลับมีราคาลดลงมากกว่าเดิมอีกหลายสิบ เปอร์เซ็นต์ จะขายก็ทำใจไม่ได้ ต้องเก็บเอาไว้รอจนกว่าราคาจะกลับมาที่เดิม ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นเมื่อไหร่ บางครั้งรายการ”ขาดทุนทางบัญชี”ที่เกิดขึ้นมากกว่ากำไรที่ได้มาเสียอีก
ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นให้ได้อ่านกันอีกมาก การทำความรู้จักกับพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ จะช่วยให้ท่านเข้าใจและรู้เท่าทันตนเองได้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลทำให้การลงทุนของท่านประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
นับว่า เป็นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนอีกเล่มที่นักลงทุนทุกคนไม่ว่าจะสไตล์ไหนก็ตาม ไม่ควรพลาด–จบ–
–กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 11 – 17 มีนาคม 2548–

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น